สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ (ประมาณ: พ.ศ. 2199—2278) พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสี พระองค์มีบทบาทด้านการค้าค่อนข้างสูงในรัชสมัยของพระราชบิดา และได้รับพระราชทานให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเป็น "กรมหลวงโยธาเทพ" และคงมีพระอำนาจสูงมาก โดยจากหลักฐานของลาลูแบร์ได้กล่าวว่าพระองค์ "...ดำรงอิสริยยศเยี่ยงพระมเหสี..." และบางครั้งชาวตะวันตกก็เรียกแทนพระองค์ว่าเป็น "ราชินี"
พระองค์มีบทบาทอย่างสูงเนื่องจากทรงมีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าวางยาลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยนัก ด้วยการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา จากนั้นพระนางใช้ชีวิตอย่างสงบด้วยการผนวชเป็นรูปชีจนสิ้นพระชนม์ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ใน พ.ศ. 2278
สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประสูติแต่พระอัครมเหสี เรื่องราวเบื้องต้นของพระองค์ปรากฏใน คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 โดยในเนื้อความได้กล่าวถึงพระราชโอรส-ธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเนื้อความระบุว่า ขณะนั้นพระราชธิดามีพระชนมายุได้ 25 พรรษา จึงสันนิษฐานว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2199
พระองค์เป็นพระราชธิดาที่โปรดปรานของพระราชบิดา หากมีผู้ใดเสกสมรสด้วยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็ย่อมได้รับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์มากขึ้นด้วย และด้วยความที่เป็นพระราชธิดาที่ทรงโปรดปราน สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าฟ้าต่างกรม เป็นพระองค์แรก ๆ พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ที่ได้รับการจัดตั้งจากเหล่าขุนนางข้าราชการเช่นกัน ซึ่งกรมหลวงโยธาทิพเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเรื่องราวดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานวังหน้าเกี่ยวกับที่มาของเจ้าต่างกรม ความว่า
แต่เดิมมาขัตติยยศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายนั้น เป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ เช่นเป็นพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฏเป็น พระสุริโยทัย พระวิสุทรกษัตรีย์ เป็นต้น ครั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าน้องยาเธอ จึงไม่ได้สถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่า เมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการในพระมเหสีคงอยู่แก่เจ้าฟ้าพระราชธิดา) จึงโปรดให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเป็นกรมกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา และให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณอย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้นจึงปรากฏพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เป็นปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้
สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีน้ำพระทัยและจรรยามารยาทละมุนละไมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในราชสำนักและราษฎรทั่วไป สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงรักพระอนุชาองค์นี้ประดุจพระโอรส จึงมีพระราชดำริที่จะสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาท และยกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ให้เป็นพระชายา จนถึงขั้นมีการเตรียมการจัดงานอภิเษกสมรส อีกทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพเองก็มีพระปรารถนาอย่างลึกซึ้ง แต่ความหวังก็พังพินาศลงในกาลต่อมา เนื่องจากเจ้าฟ้าน้อยทรงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกลงโทษด้วยการโยนให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยได้รับโทษโบย จนเป็นอัมพาตที่พระชิวหา บ้างก็ว่าทรงแสร้งเป็นใบ้
ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชประสงค์ให้กรมหลวงโยธาเทพ อภิเษกสมรสกับพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย และพระองค์ทรงยึดมั่นในพระราชดำริเดิมที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าน้อย และทรงขัดขืนพระราชประสงค์ของพระบิดา โดยปรากฏในบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน ความว่า
ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผมได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ มร.ก็องสตังซ์ [เจ้าพระยาวิชาเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์...
ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพมิเคยปรากฏพระองค์ให้ชาวยุโรปคนใดพบเห็นเลย จึงเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยเช่นกันกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง
หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชาได้ครองราชย์สืบมา และได้ทรงอภิเษกกรมหลวงโยธาเทพขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายเพื่อสิทธิธรรมแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งกรมหลวงโยธาเทพเองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน และตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยต่อพระเพทราชานัก นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาได้สั่งให้ปลงพระชนม์พระอนุชาสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่ได้กรมหลวงโยธาเทพที่ทรงเป็นสมเด็จพระมเหสีฝ่ายซ้าย จึงทำให้พระเพทราชามีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อครบถ้วนทศมาสกรมหลวงโยธาเทพก็ได้ให้พระประสูติกาลเจ้าฟ้าตรัสน้อย ในจุลศักราช 1050 (พ.ศ. 2231)
หลังจากสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระองค์และเจ้าฟ้าตรัสน้อยทรงย้ายไปประทับอยู่ ณ พระตำหนักใกล้พระอารามวัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าประทับดังกล่าวปัจจุบันคือวัดตะเว็ด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลไปจากวัดพุทไธศวรรย์ พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสงบสุข จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2278 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะที่ผนวชเป็นรูปชี โดยในพงศาวดารกล่าวว่าพระองค์ได้เสด็จ "นิพพาน" การนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ณ วัดพุทไธศวรรย์ แล้วเชิญพระโกศขึ้นพระยานุมาศแห่มาเข้าพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ สิริพระชนมายุได้ 79 พรรษา
พระราชกรณียกิจในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพทรงรับผิดชอบกิจการในพระราชวังแทนพระราชมารดาที่เสด็จสวรรคต ทรงดูแลเรื่องต่าง ๆ นางสนมกำนัลขันที จนชาววังเรียกว่า "เจ้าวัง" เมื่อทรงกรมแล้วได้รับพระเกียรติยศอย่างสูงสุดคือ ได้รับพระราชทานหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ส่วยสาอากรขนอนตลาดเลกสมในสังกัด มีพระคลังสินค้า เรือกำปั่น และเงินทุน นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกจำนวนมาก เรื่องราวของพระองค์ได้ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทำการบันทึกไว้ความว่า "...เจ้าฟ้าหญิงองค์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าดำรงอิสริยยศเยี่ยงพระมเหสีนั้น กำลังทรงมีเรื่องหมางพระทัยอยู่กับพระราชบิดา ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงกว้านการค้ากับต่างประเทศไว้เสียหมด" ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมีเหตุหมางพระทัยกับพระราชบิดาที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเขาได้เกณฑ์แรงงานสองพันคนจากที่ดินในอาณัติของพระองค์ เพื่อนำไปปฏิบัติการในเมืองเขมรช่วงปี ค.ศ. 1684 จึงเป็นเหตุให้ทรงกริ้วหนัก และพระองค์ก็ทรง "ไม่สบายพระทัยนักที่พวกฝรั่งเศสเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพระราชอาณาจักรเช่นนี้" ทั้งนี้ทรงตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ดังปรากฏความว่า "คุณพ่อบาทหลวงตอบพวกเราว่า หากทำตามที่เราเรียกร้องก็หมายหัว ม.ก็องสต็องซ์ไว้ได้เลย ทั่วทั้งอาณาจักรจะลุกขึ้น ตั้งกันเป็นหมู่เป็นพวก นับร้อยนับพัน จะเป็นโอกาสให้ศัตรูของเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ราชินี [พระราชธิดา — กรมหลวงโยธาเทพ] ซึ่งทรงเย่อหยิ่งและผยองในศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง"
ด้วยเหตุดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 1687 มาดามลาโดฟิน พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ เลอกร็องโดฟิน พระโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งทูตพิเศษนำของกำนัลมาพระราชทานให้ แต่พระองค์กลับปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าพระองค์ทรงมีฐานะ "ยากจน" เกินกว่าจะประทานของมีค่าที่จะเทียบกันได้เป็นการตอบแทน ซึ่งในจดหมายเวเรต์ถึงมาร์กีส์เดอแซนเญอเลก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า "พระราชธิดาในองค์กษัตริย์สยามแสดงอาการโกรธแค้นพวกเรา เนื่องจากนางเกลียดชังเมอสิเยอร์ก็องสต็องซ์ซึ่งเคยลบหลู่ดูหมิ่นนางอยู่หลายครั้งหลายหน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง จนกระทั่งนางไม่ประสงค์จะรับของกำนัลของมาดามลาโดฟีนที่ส่งมาถวาย นี่แสดงให้เห็นความเกลียดชังของนางที่มีต่อเรา"
นอกจากนี้บาทหลวงตาชาร์ดก็ได้บันทึกเรื่องราวด้วยลายมือเขียนด้วยเช่นกัน แต่ก็แต่งเติมไปบ้าง ความว่า "ครั้งเมื่อมีผู้ไปเร่งรัดทาง (พระราชธิดา)...ให้เข้าไปยังราชสำนัก เพื่อจะได้คัดเลือกของหายากให้เป็นของกำนัลแด่พระชายาของพระโอรส เพราะจะเป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตอบแทนน้ำใจของมาดามลาโดฟิน พระนางตรัสตอบว่า ไม่ได้ทรงร่ำรวยพอที่จะส่งของกำนัลที่มีค่าเสมอกับของที่ส่งมาให้ และทรงแน่พระทัยว่า องค์พระบิดาจะได้ทรงกระทำทุกอย่างที่ทรงเห็นควรเหมาะกับพระนาง"
กล่าวกันว่าพระนางทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวฮอลันดาโดยผ่านแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์และตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้วางยาพิษลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามคำสั่งของฮอลันดาและพระเพทราชา
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี_กรมหลวงโยธาเทพ